นักสืบแห่งประเทศไทย

วิธีและขั้นตอนการแจ้งความคนหาย และการเตรียมเอกสารที่ควรรู้

การแจ้งความคนหาย หมายถึง การแจ้งความกรณีคนหายกับพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจเพื่อลงรายงานบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน และเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนในการสืบค้นของระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี เรื่องคนหายพลัดหลงต่อไป

สารบัญเว็บไซต์

ข้อแนะนำก่อนการไปแจ้งความคนหายที่สถานีตำรวจ

  1. ครอบครัวคนหายต้องตรวจสอบข้อมูลเพื่อเป็นการยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าคนหายได้หายออกจากบ้านไปจริงๆ โดยไม่มีกรณีสงสัยว่าติดธุระหรือไปที่อื่น ซึ่งเป็นเหตุให้กลับบ้านผิดเวลา โดยข้อมูลดังกล่าวควรตรวจสอบจากเพื่อนสนิทหรือคนที่คิดว่าจะทราบความเคลื่อนไหวของผู้หายเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่จะขาดการติดต่อไป
  2. ควรตรวจสอบทรัพย์สินหรือสิ่งของสำคัญของผู้หาย ว่ามีการนำติดตัวไปด้วยหรือไม่ ตรวจสอบว่ามีการเก็บเสื้อผ้าหรือทิ้งหลักฐานอื่นๆ เช่น จดหมายสั่งลา ไว้ด้วยหรือไม่ เพื่อเป็นข้อมูลและพยานหลักฐานในการยืนยันว่าผู้หายไปหายออกจากบ้านไปจริงๆ
  3. ควรลำดับเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นก่อนการหายไป และเหตุการณ์ที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายไป โดยครอบครัวอาจจะเขียนลำดับเหตุการณ์ลงในกระดาษ เพื่อง่ายต่อการเรียงลำดับเหตุการณ์อย่างเป็นขั้นตอนและชัดเจน อีกทั้ง เมื่อเวลาไปแจ้งความที่สถานีตำรวจยังสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจอ่านได้ทันที เพื่อป้องกันการให้ข้อมูลที่สับสนและอาจจะตกหล่นไปในประเด็นที่มีความสำคัญ

ขั้นตอนการแจ้งความคนหายที่สถานีตำรวจ

  1. พบพนักสอบสวนเพื่อให้สอบถามรายละเอียดและสอบปากคำผู้แจ้งเกี่ยวกับข้อมูลของคนหาย
  2. เสมียนประจำวันคดีลงบันทึกประจำวัน
  3. พนักงานสอบสวนมอบสำเนาบันทึกประจำวันให้แก่ผู้แจ้ง (ในกรณีที่พนักงานสอบสวนไม่มอบสำเนาบันทึกประจำวันดังกล่าวให้ ผู้แจ้งความต้องร้องขอ)
  4. ให้ผู้แจ้งขอชื่อและหมายเลขโทรศัพท์มือถือของพนักงานสอบสวนที่รับแจ้งความไว้ด้วย สำหรับการประสานงานเพื่อสอบถามความคืบหน้า

แจ้งความคนหายที่สถานีตำรวจไหนได้บ้าง

  1. สถานีตำรวจท้องที่ที่เกิดเหตุ หรือท้องที่ที่พบผู้หายครั้งสุดท้าย
  2. สถานีตำรวจท้องที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของผู้หาย
  3. สถานีตำรวจทุกแห่งที่คาดว่าผู้หายจะอยู่ในท้องที่ดังกล่าว
  4. สถานีตำรวจท้องที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของครอบครัวผู้หาย

ระยะเวลาที่สามารถแจ้งความคนหายได้

ปัญหาที่ครอบครัวคนหายพบเสมอในการแจ้งความคนหายที่สถานีตำรวจ คือ การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิเสธการรับแจ้งความ โดยอ้างเหตุผลว่า คนหายยังหายไปไม่ถึง24 ชั่วโมง จึงไม่สามารถรับแจ้งความดังกล่าวไว้ได้ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจอาจจะใช้ดุลพินิจในการไม่รับแจ้งความได้ ในกรณีที่ไม่สมควรแก่เหตุ เช่น การกลับบ้านคลาดเคลื่อนจากเวลาปกติที่เคยกลับเพียง 2–3 ชั่วโมง ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอ เนื่องจากผู้หายอาจจะติดธุระหรือมีเหตุจำเป็นเรื่องอื่นจึงทำให้กลับบ้านช้ากว่าปกติ เป็นต้น ดังนั้นการแจ้งความคนหาย จึงสามารถแจ้งได้ตลอดเวลา ไม่จำเป็นต้องหายไปครบ 24 ชั่วโมง แต่อย่างใด อีกทั้งถ้าเป็นกรณีเร่งด่วน เช่น เด็ก คนชรา หรือผู้ป่วยที่มีอาการทางสมองหายออกจากบ้านไป สามารถแจ้งความเพื่อขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทันที

บุคคลที่มีสิทธิไปแจ้งความคนหาย

บุคคลที่มีสิทธิในการไปแจ้งความคนหายที่สถานีตำรวจ ตามระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดีเรื่องคนหายพลัดหลงและประมวลวิธีพิจารณาความอาญา คือ บุคคลดังต่อไปนี้

  1. ผู้บุพการีได้แก่ บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย
  2. ผู้สืบสันดานได้แก่ ลูก หลาน เหลน ลื่อ
  3. ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล ของผู้เยาว์หรือผู้ไร้ความสามารถ
  4. สามี ภรรยาที่จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย
  5. บุคคลอื่นอาจจะไปแจ้งความคนหายได้ เช่น นายจ้าง หรือ ผู้ที่ดูแลบุคคลนั้นอยู่เป็นต้น

หมายเหตุ : กรณีคนหายมาเรียนหรือทำงานในจังหวัดอื่นตามลำพัง เพื่อนหรือนายจ้างของผู้หาย ควรแจ้งให้ครอบครัวของผู้หายทราบ เพื่อให้ครอบครัวของผู้หายไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในภูมิลำเนาของผู้หาย

เอกสารที่ต้องเตรียมไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ

เอกสารของผู้แจ้ง

  1. บัตรประจำตัวประชาชน (หรือ)
  2. บัตรประจำตัวข้าราชการ (หรือ)
  3. หนังสือเดินทาง (กรณีคนต่างชาติ)
  4. สำเนาทะเบียนบ้าน

เอกสารเกี่ยวกับคนหาย

  1. สำเนาบัตนประจำตัวประชาชน
  2. สำเนาทะเบียนบ้าน
  3. ภาพถ่ายคนหาย (ภาพที่ถ่ายไว้ล่าสุด ,มองเห็นชัดเจน)
  4. ใบสำคัญทางราชการอื่นๆ (ถ้ามี)

วิธีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่สถานีตำรวจ

กรณีตำรวจไม่ยอมรับแจ้งความคนหาย

กรณีตำรวจไม่ยอมรับแจ้งความคนหาย โดยไม่มีเหตุอันสมควรนั้น ถือว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ดังนั้น พนักงานสอบสวนจะปฏิเสธการรับแจ้งความคนหายไม่ได้

ทั้งนี้ หากพนักงานสอบสวนไม่ยอมรับแจ้งความคนหาย ผู้แจ้งควรไปดำเนินการร้องทุกข์กับนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ในระดับรองผู้กำกับการขึ้นไปในสถานีตำรวจนั้นๆ เพื่อให้ได้รับความสะดวกในการแจ้งความ

กรณีตำรวจไม่มอบสำเนาบันทึกประจำวัน

การแจ้งความคนหายทุกกรณี ไม่ว่าจะมีความเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาด้วยหรือไม่ พนักงานสอบสวนที่รับแจ้งความมีหน้าที่จะต้องให้สำเนาบันทึกประจำวันเพื่อเป็นหลักฐานกับผู้แจ้งด้วยทุกครั้ง ผู้แจ้งความจึงมีสิทธิในการเรียกรับสำเนาบันทึกการแจ้งความด้วยทุกครั้ง

หากผู้แจ้งความไม่ได้รับสะดวกในการแจ้งความคนหาย ผู้แจ้งควรไปดำเนินการร้องทุกข์กับนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ในระดับรองผู้กำกับการขึ้นไปในสถานีตำรวจนั้นๆ เพื่อให้ได้รับความสะดวกในการแจ้งความ

กรณีตำรวจไม่ให้ความช่วยเหลือในกรณีเร่งด่วนตามที่ผู้แจ้งความร้องขอ

กรณีคนหายในลักษณะเร่งด่วน เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ หรือ กรณีที่คนหายมีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายครอบครัวคนหายสามารถร้องขอความช่วยเหลือให้เจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยดำเนินการในการประสานงานเพื่อช่วยเหลือคนหายได้ โดยให้รีบแจ้งแก่พนักงานสอบสวนที่รับแจ้งความคนหายให้รีบดำเนินการดังกล่าว

หากพนักงานสอบสวนไม่ยอมดำเนินการให้ ผู้แจ้งควรไปดำเนินการร้องทุกข์กับนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ในระดับรองผู้กำกับการขึ้นไปในสถานีตำรวจนั้นๆ เพื่อให้ได้รับความสะดวกในการขอความช่วยเหลือดังกล่าว

สิทธิในการขอให้พนักงานสอบสวนช่วยเหลือและขอเข้าพบผู้บังคับบัญชา

ผู้แจ้งความหรือผู้ที่จะเข้าไปติดต่อราชการที่สถานีตำรวจ ถือว่าเป็นผู้มีสิทธิในการที่จะได้รับการบริการอย่างเต็มที่และเต็มใจจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดังนั้นประชาชนจึงควรได้รับความช่วยเหลือจากตำรวจในอำนาจที่กฎหมายบัญญัติไว้ ซึ่งหากไม่ได้รับความสะดวก ผู้แจ้งควรไปดำเนินการร้องทุกข์กับนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ในระดับรองผู้กำกับการขึ้นไปในสถานีตำรวจนั้นๆ เพื่อให้ได้รับความสะดวกในการขอความช่วยเหลือดังกล่าว

แจ้งความคนกาย, หาคนหาย, ตามหาคนหาย, เอกสารแจ้งความคนหาย,