นักสืบแห่งประเทศไทย
หมายจับ
หมายจับ

     หมายจับ คือ หนังสือสั่งการที่ศาลสั่งให้เจ้าหน้าที่จับกุมผู้ต้องหาหรือจำเลย (พจนานุกรม ฉบับ ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554)

    ศาลที่มีอำนาจออกหมายจับ คือ ศาลที่มีเขตอำนาจชำระคดีหรือศาลที่มีอำนาจเหนือท้องที่ที่จะทำการจับกุม

    ผู้ที่มีอำนาจในการร้องขอให้ศาลออกหมายจับ คือ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือ ตำรวจ หรือเจ้าพนักงานอื่นตามกฎหมาย โดยจะต้องเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสืบสวนหรือสอบสวนคดีที่ร้องขอออกหมายนั้น

     เหตุแห่งการออกหมายจับ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66

มาตรา 66 มีดังนี้

  1. เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี
  2. เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาและมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น

    ถ้าบุคคลนั้นไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือไม่มาตามหมายเรียกหรือตามนัดโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควร ให้สันนิษฐานว่าบุคคลนั้นจะหลบหนี

    ผู้มีอำนาจจับกุมผู้ต้องหาหรือจำเลยตามหมายจับ คือ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือ ตำรวจ หรือเจ้าพนักงานอื่นตามกฎหมาย

อายุความคดีอาญา

    อายุความตามกฎหมายอาญาและกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คือ ระยะเวลาสำหรับการฟ้องคดีและอายุความสำหรับการนำตัวผู้กระทำความผิดอาญามาลงโทษ โดยขึ้นอยู่กับอัตราโทษของแต่ละฐานความผิด กล่าวคือ หากคดีใดที่มีกระบวนการดำเนินคดีมายาวนานจนพ้นกำหนดอายุความแล้ว (คดีขาดอายุความ) จะไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหา หรือจำเลย มารับโทษตามกฎหมายได้ ซึ่งกฎหมายมีการบัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายอาญา ดังนี้

มาตรา 95

มาตรา ๙๕  ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ

  1. ยี่สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกยี่สิบปี
  2. สิบห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าเจ็ดปีแต่ยังไม่ถึงยี่สิบปี
  3. สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี
  4. ห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งเดือนถึงหนึ่งปี
  5. หนึ่งปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งเดือนลงมา หรือต้องระวางโทษอย่างอื่น

    ถ้าได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้ว ผู้กระทำความผิดหลบหนีหรือวิกลจริต และศาลสั่งงดการพิจารณาไว้จนเกินกำหนดดังกล่าวแล้วนับแต่วันที่หลบหนีหรือวันที่ศาลสั่งงดการพิจารณา ก็ให้ถือว่าเป็นอันขาดอายุความเช่นเดียวกัน

มาตรา 96

มาตรา ๙๖  ภายใต้บังคับมาตรา ๙๕ ในกรณีความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ

มาตรา 98

มาตรา ๙๘  เมื่อได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษผู้ใด ผู้นั้นยังมิได้รับโทษก็ดี ได้รับโทษแต่ยังไม่ครบถ้วนโดยหลบหนีก็ดี ถ้ายังมิได้ตัวผู้นั้นมาเพื่อรับโทษนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด หรือนับแต่วันที่ผู้กระทำความผิดหลบหนี แล้วแต่กรณี เกินกำหนดเวลาดังต่อไปนี้ เป็นอันล่วงเลยการลงโทษ จะลงโทษผู้นั้นมิได้

  1. ยี่สิบปี สำหรับโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกยี่สิบปี
  2. สิบห้าปี สำหรับโทษจำคุกกว่าเจ็ดปีแต่ยังไม่ถึงยี่สิบปี
  3. สิบปี สำหรับโทษจำคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี
  4. ห้าปี สำหรับโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีลงมาหรือโทษอย่างอื่น

ขอบคุณรูปภาพจาก : GOOGLE.COM

เรียบเรียงโดย : ทีมงานนักสืบแห่งประเทศไทย

หมายจับ

หมายจับจากศาล

คดีอาญา

อายุความคดีอาญา